Blogger นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา ARTI3319 - เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบนิเทศศิลป์
วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556
สร้างห้องสมุดในฝ่ามือด้วยคินเดิล
สร้างห้องสมุดในฝ่ามือด้วยคินเดิล
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านมีอุปกรณ์ สุดรักประจำตัว ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อต่าง ๆ ไอโฟน ไอแพด ไอพอด แท็บเล็ต กล้องดิจิทัล และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สำหรับผมแล้ว อุปกรณ์ที่ผมพกติดตัวแทบจะตลอดเวลาคือ คินเดิล (Kindle) ครับ คินเดิลคืออุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องอ่านอีบุ๊กของอเมซอน (Amazon.com) ซึ่งเป็นเว็บขายหนังสือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในบทความนี้ ผมจะเล่าประสบการณ์ในการใช้คินเดิลว่า มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือปกติที่เราคุ้นเคยครับ
1. คินเดิลหนึ่งเครื่องบรรจุอีบุ๊กได้ประมาณหนึ่งพันเล่ม ดังนั้นคินเดิลแก้ปัญหาใหญ่ของคนรักหนังสือคือ มีหนังสือจำนวนมากจนพื้นที่ไม่พอ ขณะนี้คินเดิลของผมมีอีบุ๊กประมาณ 60 เล่ม กล่าวได้ว่าเป็นห้องสมุดขนาดเล็กได้แล้ว ดังนั้นผู้ที่เดินทางบ่อย ๆ ไม่ต้องลังเลว่าจะนำหนังสือเล่มไหนไปอ่านระหว่างเดินทาง เพราะเราอ่านได้ทุกเล่มบนคินเดิลครับ อีกทั้งคินเดิลมีน้ำหนักเบา ผมจึงพกคินเดิลติดตัวเกือบตลอดเวลาได้อย่างสะดวก
2. การซื้ออีบุ๊กทำได้สะดวกมาก เพราะเพียงแค่มีสัญญาณไวไฟ ก็เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแล้วซื้อหนังสือจากอเมซอนได้ทันที ก่อนหน้านี้ เวลาที่ผมซื้อหนังสือจากอเมซอน จะต้องเสียค่าหนังสือ ค่าส่ง และรอคอยหนังสืออีกประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้หนังสือ แต่ปัจจุบัน การซื้ออีบุ๊กบนคินเดิลใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีและไม่ต้องเสียค่าส่ง ก็ได้หนังสือทั้งเล่มแล้ว อีกทั้งอีบุ๊กจะราคาถูกกว่าหนังสือเล่มจริงด้วย ในอินเทอร์เน็ตมีอีบุ๊กฟรีจำนวนมาก ดังนั้นเราดาวน์โหลดอีบุ๊กฟรีมาอ่านได้ และอีบุ๊กเกือบทุกเล่มในอเมซอนมีบทฟรีให้เราอ่านก่อนซื้อ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องซื้ออีบุ๊กทั้งเล่มก็ได้ แค่อ่านเฉพาะบทที่แจกฟรีก็มีมากมายมหาศาลจนอ่านไม่ไหวแล้วครับ ปีนี้ผมจึงอ่านหนังสือได้มากกว่าปีก่อน ๆ มาก เพราะซื้อหนังสือที่ต้องการได้สะดวกครับ
3. จุดเด่นที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคินเดิลคือ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า อีอิงก์ (e-ink) หรือหมึกอิเล็ก ทรอนิกส์ ซึ่งทำให้รู้สึกราว กับว่ากำลังอ่านหนังสือจริง ๆ โดยไม่มีแสงสะท้อน จากหน้าจอ ซึ่งต่าง จากการอ่านบทความหรือหนังสือในแท็บ เล็ตครับ ข้อดีของอีอิงก์คือ ทำให้เราอ่านหนังสือนาน ๆ ได้โดยไม่เมื่อยตา ซึ่งผิดกับการมองหน้าจอแท็บเล็ตนาน ๆ จะรู้สึกเพลียสายตา แต่นี่คือข้อเสียของคินเดิลรุ่นเก่าเช่นกัน เพราะเราอ่านหนังสือในที่มืดไม่ได้ครับ เนื่องจากไม่มีแสงสะท้อน ยกเว้นคินเดิลรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งมีแสงสว่างทำให้อ่านในที่มืดได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของคินเดิลขณะนี้คือ อีบุ๊กภาษาไทยยังมีน้อย เพราะต้องแปลงให้อยู่ในรูปแบบของคินเดิลก่อน จึงจะอ่านได้ ดังนั้นคินเดิลเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษครับ ขีดจำกัดอีกประการหนึ่งของคินเดิลคือ อ่านได้เฉพาะหนังสือขาวดำเท่านั้น ยังไม่สามารถอ่านหนังสือสีได้ครับ คงต้องรออีกสักพัก จึงจะมีคินเดิลรุ่นที่อ่านหนังสือสีได้ ถ้าท่านผู้อ่านอยากทดลองใช้อีบุ๊กของคินเดิลว่าเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องซื้อตัวเครื่องคินเดิล ก็สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์คินเดิลซึ่งมีอยู่ในทุกระบบปฏิบัติการ รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ฟรี จาก www.amazon.com ผมหวังว่าในอนาคตอันใกล้ คงจะได้อ่านหนังสือที่โด่งดังและมีจำนวนหลายเล่มเช่น มังกรหยก พล นิกร กิมหงวน หรือเพชรพระอุมาในอีบุ๊กโดยไม่ต้องถือหนังสือหนา ๆ อีกต่อไปครับ.
ธงชัย โรจน์กังสดาล
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มาของข่าว http://www.dailynews.co.th/technology/170901
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น